วันอาทิตย์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2557

พะยูน (Dugong dugon)


ทรัพยากรสัตว์ทะเลหายาก - พะยูน

     พะยูนเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่อาศัยอยู่ในทะเล เชื่อว่าพะยูนเคยอาศัยหากินอยู่บนบก และมีบรรพบุรุษที่ใกล้เคียงกับบรรพบุรุษของช้าง เมื่อราว 55 ล้านปีมาแล้วสายพันธุ์ของพะยูนได้วิวัฒนาการลงไปอยู่ในน้ำและไม่กลับขึ้นมา อยู่บนบกอีกเลย เช่นเดียวกับพวกโลมาและปลาวาฬ

     พะยูน (Dugong dugon) มีลำตัวรูปกระสวยคล้ายโลมา ลำตัวมีสีเทาอมชมพูหรือน้ำตาลเทา สีของส่วนท้องอ่อนกว่า พะยูนมีขนสั้นๆประปรายตลอดลำตัวและมีขนเส้นใหญ่อยู่อย่างหนาแน่นบริเวณปาก มีตาและหูขนาดเล็กอย่างละคู่ ส่วนของหูเป็นรูเปิดเล็กๆไม่มีใบหู มีรูจมูกอยู่ชิดกันหนึ่งคู่ รูจมูกมีลิ้นปิด-เปิด พะยูนหายใจทุก 1-2 นาที มีครีบด้านหน้าหนึ่งคู่อยู่สองข้างของลำตัวและมีติ่งนมอยู่ด้านหลังของฐาน ครีบ ครีบทั้งสองเปลี่ยนแปลงมาจากขาคู่หน้า ภายในครีบประกอบด้วยนิ้ว 5 นิ้ว ปกติพะยูนว่ายน้ำช้าด้วยความเร็ว 1.8-2.2 ก.ม./ช.ม. พะยูนมีกระดูกที่มีโครงสร้างแน่นและหนักซึ่งเหมาะกับวิถีชีวิตของพะยูนที่ อาศัยหากินอยู่ที่พื้น พะยูนไม่มีอาวุธป้องกันตัว มีเพียงลำตัวที่ใหญ่ มีหนังหนาซึ่งอาจป้องกันอันตรายจากการกัดหรือทำร้ายจากสัตว์อื่นเช่น ฉลาม เมื่อมีบาดแผลเลือดแข็งตัวได้เร็วมาก ส่วนลูกอ่อนจะอยู่กับแม่และอาศัยตัวแม่เป็นโล่กำบังที่ดี

     พะยูนเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุ 9-10 ปีในทั้งสองเพศ ระยะตั้งท้องนาน 13-14 เดือน คลอดลูกครั้งละหนึ่งตัว ลูกแรกเกิดกินนมจากแม่พร้อมทั้งเริ่มหัดกินหญ้าทะเล และอาศัยอยู่ใกล้ชิดกับแม่ตลอดเวลาเป็นเวลาประมาณปีครึ่งถึงสองปี ลูกพะยูนแรกเกิดยาว 1-1.2 ม. และหนัก 20-35 ก.ก. พะยูนตัวเต็มวัยมีความยาวประมาณสามเมตร ในขนาดความยาวเท่าๆกันตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้เล็กน้อย

 

พะยูนอาศัยอยู่ในทะเลเขตร้อนและเขตกึ่งร้อนบริเวณเส้นละติจูด 27o N ถึงละติจูด 27o S หรือจากด้านตะวันออกของทวีปแอฟริกาถึงทวีปออสเตรเลีย ปัจจุบันยังพบว่ามีอยู่มากในรัฐควีนสแลนด์และทางด้านตะวันตกของประเทศ ออสเตรเลีย และปาปัวนิวกินี ส่วนในประเทศอื่นๆ จำนวนพะยูนลดลงอย่างมาก หรือสูญพันธุ์ไปแล้ว พะยูนเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ในทะเลเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่ กินเฉพาะพืชเป็นอาหาร (Herbivor) ซึ่งได้แก่หญ้าทะเล (Seagrass) ชนิดต่างๆ ตัวเต็มวัยกินหญ้าทะเลมากถึงวันละ 30 ก.ก. หรือประมาณ 8-10% ของน้ำหนักตัว
ข้อมูลชีววิทยา / ชนิดพันธุ์

     พะยูนเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ในทะเล เชื่อว่าพะยูนเคยอาศัยหากินอยู่บนบก และมีบรรพบุรุษที่ใกล้เคียงกับบรรพบุรุษของช้าง เมื่อราว 55 ล้านปีมาแล้วสายพันธุ์ของพะยูนได้วิวัฒนาการลงไปอยู่ในน้ำและไม่กลับขึ้นมา อยู่บนบกอีกเลย เช่นเดียวกับพวกโลมาและวาฬ พะยูนจัดอยู่ใน Order Sirenia มีอยู่ด้วยกัน 2 ครอบครัว (Family) คือ Dugongidae และTrichechidae แยกเป็น 2 สกุล (Genus) คือสกุล Dugong และสกุล Trichechus เหลืออยู่ 4 ชนิด (Species)

วงศ์ Dugongidae พะยูนวงศ์นี้มีหางที่เรียกว่า Fluke ลักษณะหางเป็นแฉกคล้ายหางโลมาจัดจำแนกเป็น 2 สกุล

  Hydrodamalis gigas หรือวัวสเตลเลอร์ (Steller'sea cow) สูญพันธุ์แล้ว
  Dugong dugon Muller, 1776


วงศ์ Trichechidae พะยูนในวงศ์นี้มีหางกลม หรือที่เรียกว่า "มานาตี" (Manatee) มีสกุลเดียวคือ Trichechus ซึ่งแยกออกเป็น 3 ชนิดด้วยกัน (Jefferson et al.,1993) คือ

  Trichechus manatus Linnaeus, 1758 (west Indian Manatee) (Eschscholtz, 1829)
  Trichechus inunguis Natterer, 1883 (Amazonian Manatee)
  Trichechus senegalensis Link, 1795 (West African Manatee)

อาหารในกระเพาะพะยูน


หญ้าชะเงาใบฟันเลื่อย (Cymodocea serrulata)
           สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน ได้ศึกษาแยกชนิดของหญ้าทะเลในกระเพาะพะยูน ตัวอย่างพะยูนที่ได้รับมีหญ้าทะเลอยู่ในกระเพาะ 2-5% ของน้ำหนักตัว แม้ว่าจะพบว่าพะยูนไม่ได้เลือกกินหญ้าทะเลชนิดใดชนิดหนึ่งโดยเฉพาะ แต่พะยูนจะกินหญ้าชนิดที่พบมากในแหล่งที่มันอาศัยหากินอยู่ ในแต่ละกระเพาะมีหญ้าทะเลปะปนอยู่ 5-6 ชนิด และสาหร่ายทะเลอีกจำนวนเล็กน้อย จากตัวอย่างทั้งหมดที่ศึกษาพบหญ้าทะเล 9 ชนิด (ในประเทศไทยมีหญ้าทะเล 12 ชนิด ) ได้แก่ หญ้าอำพัน หญ้าเงาใส หญ้าชะเงาหรือหญ้าคาทะเล กุ่ยช่ายทะเลกุ่ยช่ายเข็ม หญ้าชะเงาเต่า หญ้าชะเงาใบมน หญ้าชะเงาใบฟันเลื่อย และต้นหอมทะเล หญ้าทะเลที่พบมากในกระเพาะคือ หญ้าอำพันหรือหญ้าใบมะกรูด กุ่ยช่ายทะเล หญ้าชะเงาใบมนและใบฟันเลื่อย
    

หญ้าคาทะเล (Enhalus acoroides)
    
หญ้าอำพัน หรือหญ้าใบมะกูด (Halophila ovalis)

การอนุบาลพะยูน

      ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รายงานการอนุบาลพะยูนในบ่ออนุบาลจากทั่วโลก พบว่าพะยูนเป็นสัตว์ที่อนุบาลได้ยากในบ่ออนุบาลหรือในที่ล้อมขัง มักอนุบาลอยู่ได้ไม่นานและตายในที่สุด พะยูนที่อนุบาลได้ระยะเวลาสั้นที่สุดเพียง 17 วันคือ ในประเทศออสเตรเลียเมื่อปี ค.ศ. 1968 ในประเทศอินเดียอนุบาลได้นาน 10 ปีกับ 10 เดือนในระหว่างปี ค.ศ. 1959-1970 ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการครองอันดับในการอนุบาลพะยูนในที่ล้อมขังได้ ยาวนานที่สุดในโลกจนถึงปัจจุบัน(พ.ศ. 2547) คือ ที่ Toba Aquarium ประเทศญี่ปุ่นอนุบาลพะยูนสองตัวมานานกว่า 25 ปี และยังมีชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบัน โดยให้พะยูนกินหญ้าทะเลชนิดหญ้าปลาไหล (Zostera marina) ซึ่งสั่งซื้อมาจากประเทศเกาหลี แต่อย่างไรก็ตาม Toba Aquarium ยังไม่ประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์พะยูนในตู้อนุบาล ซึ่งผิดกับมานาตีที่อนุบาลง่ายและสามารถให้ลูกในตู้อนุบาลได้้

การอนุบาลพะยูนในประเทศไทย

     มีรายงานเฉพาะจากสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน (เดิมคือสถาบันวิจัยชีววิทยาและประมงทะเล) จ.ภูเก็ตเท่านั้น อนุบาลได้นาน 30-200 วัน นอกจากนี้ยังมีบันทึกว่ามีการอนุบาลลูกพะยูนอีก 2 ตัว คือในปี พ.ศ. 2525 ลูกพะยูนอนุบาลไว้ที่ศูนย์พัฒนาการเพาะอนุบาลสัตว์น้ำชายฝั่ง จ.สตูล แต่ไม่ได้รายละเอียดแน่ชัดว่าอนุบาลนานเท่าใด เสียชีวิตหรือปล่อยคืนทะเล และอีกตัวหนึ่งเป็นลูกพะยูนติดอวนลอย ที่หาดเจ้าไหม เมื่อเดือนสิงหาคม 2538 และได้ปล่อยกลับกลับทะเลหลังอนุบาลไว้ในกระชังราว 20 วัน ลูกพะยูนที่อนุบาลชอบกินหญ้าอำพันหรือใบมะกรูด (Halophila ovalis)



พะยูนที่อนุบาลนาน 200 วัน ปี พ.ศ. 2534 ที่สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยกรทางทะเลและชายฝัง จ.ภูเก็ต
 

พะยูนในตู้อนุบาลที่ Toba Aquarium ประเทศญี่ปู่น



เสียงของพะยูน

        การศึกษาเรื่องเสียงพะยูน (Acoustic voice of Dugong) สถาบันฯ ได้ทำวิจัยเรื่องเสียงพะยูนร่วมกับมหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เป็นโครงการวิจัยต่อเนื่องระหว่างปี พ.ศ. 2546-50 ในการศึกษาเบื้องต้นได้มีการติดตั้ง Stereo Hydrophone ที่เรือสังเกตการณ์แต่ละลำ จำนวน 2 ลำ เพื่อบันทึกเสียงในน้ำและได้ทำการวิเคราะห์หาระดับความดังเสียง ระยะเวลาต่อเนื่อง และคลื่นความถี่กลางของเสียงร้องจากไฟล์เสียงที่ได้มาจากการบันทึกเสียง ขั้นตอนต่อไปเป็นการวิเคราะห์หาค่าต่างของเวลาที่มาถึงของเสียงร้องระหว่าง สองช่อง (Channel) และคำนวณทิศทางที่มาถึง (Arrival Bearing) ของเสียงร้อง ช่วงความถี่ของเสียงร้องของพะยูนอยู่ที่ 3-8 kHz และระยะเวลาต่อเนื่องแยกออกเป็นช่วงสั้นที่ 100-500 ms และช่วงยาวซึ่งมีเสียงร้องนานกว่า 1000 ms โดยประมาณ

ระยะเวลาห่างระหว่างการส่งเสียงร้องแต่ละครั้งมีสองแบบคือ ระหว่าง 0-5 วินาที และนานกว่า 2 วินาที ส่วนทิศทางที่มาถึงของเสียงร้องนั้นจะเปลี่่่ียนแปลงไปตามการเคลื่อนที่ของ พะยูนจากการคำนวณทิศทางที่ส่งมาถึงของเสียงร้องนั้น จะเปลี่่่่่ยนแปลงไปตามการเคลื่อนที่ของพะยูนจากการคำนวณทิศทางที่ส่งมาถึง ของเสียงร้องเดียวกันจากหลายๆ จุดทำให้สามารถตรวจวัดตำแหน่งของพะยูนได้อย่างต่อเนื่อง ในปัจจุบันกำลังผลิต voice data logger ที่สามารถทำการบันทึกในน้ำได้โดยอัตโนมัติและมีกำหนดจากที่จะสร้างเครือข่าว สำรวจพะยูนโดยใช้ logger ดังกล่าวนี้ Download เสียงพะยูน   
     

ความผูกพันระหว่างคนไทยกับพะยูน

การตั้งชื่อสถานที่ด้วยชื่อเรียกพะยูน



แสดงหน้าตาพะยูนที่ชัดเจน
 

แสดงหน้าตาพะยูนที่ชัดเจน


      ในบ้านเรามีชื่อเรียกพะยูนหลายชื่อด้วยกัน คือ หมูน้ำ หมูดุด ดูหยง เงือก วัวทะเล และดูกอง “พะยูน หรือปลาพะยูน” เป็นชื่อที่นิยมใช้ทั่วไปในประเทศไทย (บางแห่งอาจเขียนเป็น “พยูน พยูร”) ส่วนชาวปักษ์ใต้นิยมเรียกพะยูนว่า “ดูหยง หรือ ตูหยง” ซึ่งมาจากภาษามาเลเซียที่ใช้เรียกพะยูน (Duyong, sea pig หรือหมูทะเล) ในภาษาเขียนบ้านเราในบางแห่งอาจเพี้ยนไปเป็น “ดุยง ดุหยง ตุยง หรือตุหยง” และชาวใต้ยังเรียกพะยูนอีกชื่อหนึ่งว่า “หมูน้ำ” ซึ่งอาจมาจากลักษณะของเนื้อพะยูนที่มีสีสันและรสชาดคล้ายเนื้อหมู อีกนัยหนึ่งอาจมาจากรูปร่างที่อ้วนพร้อมทั้งมีขนตามลำตัวและลักษณะการกิน อาหารที่คล้ายหมูก็ได้

      สมัยก่อนพบพะยูนมากในทะเลไทยทั้งสองฝั่ง และคนไทยน่าจะมีความผูกพันกับพะยูนอย่างมากมาช้านานแล้ว อาจจะเป็นเพราะทั้งความน่ารักน่าสงสารของพะยูน การที่พะยูนเป็นสัตว์มีรูปร่างพิเศษ หรือมีเนื้อที่มีรสชาดดี รวมทั้งความเชื่อต่างๆ ที่มีเกี่ยวกับพะยูน หลักฐานความผูกพันของคนไทยกับพะยูน คือการนำชื่อที่ใช้เรียกพะยูนไปตั้งเป็นชื่อสถานที่ที่อยู่ติดกับชายฝั่ง ทะเล ได้แก่ คำว่า “พะยูน หมูดุด ตุหยง ดุหยง ตุยง” ชื่อสถานที่ต่างๆ เหล่านี้น่าจะถูกเรียกต่อๆ กันมานับร้อยปีแล้ว และในประเทศไทยคงไม่มีชื่อสัตว์ทะเลชนิดอื่นใดที่ถูกนำไปตั้งเป็นชื่อสถาน ที่มากเท่าชื่อพะยูน และยังไม่พบรายงานจากที่อื่นที่กล่าวถึงการนำชื่อพะยูนไปตั้งเป็นชื่อสถาน ที่

      นอกจากนี้ในจังหวัดตรังหลังจากเกิดกระแสการอนุรักษ์พะยูน อย่างกว้างขวาง กอร์ปกับเป็นแหล่งที่มีพะยูนอาศัยอยู่มากที่สุดในประเทศไทย พะยูนกลายเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของจังหวัดในการอนุรักษ์ (Flagship species) เมื่อปี 2539 มีการนำพะยูนไปเป็นสัตว์นำโชคในกีฬาแห่งชาติครั้งที่ 29 หรือ “พะยูนเกมส์” มีรูปพะยูนหรือรูปปั้นพะยูนอยู่มากมาย เช่น รูปปั้นพะยูนคู่หนึ่งที่หน้าทางเข้าอควาเรียมของสถาบันราชมงคล รูปปั้นพะยูนที่ฉางหลางรีสอร์ท หุ่นสต๊าฟพะยูนที่อุทยานแห่งชาติเจ้าไหม ที่สถาบันราชมงคล และที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดตรัง มีร้านค้าและสำนักงานหลายแห่งในตัวเมืองตรังนำคำว่าพะยูนไปเป็นชื่อร้าน เช่น สำนักทนายความ ร้านอาหาร บริษัทท่องเที่ยว (พะยูนทราเวล) ร้านถ่ายรูป (พะยูนเอ็กซ์เพลส) มีรูปพะยูนตามป้ายต่างๆ เช่น ป้ายหน้าโรงเรียนปาตูดูเป๊ะบนเกาะตะลิบง ป้ายหน้าอุทยานแห่งชาติเจ้าไหม ข้างรถตุ๊กตุ๊ก เป็นต้น

คำเรียกชื่อพะยูนต่างๆ และการนำไปตั้งเป็นชื่อสถานที่ต่างๆ

เพลงพื้นบ้าน-รองเง็ง       ทางฝั่งทะเลอันดามันและมาเลเซียตอนบน มีเพลงพื้นบ้านที่เรียกว่า “รองเง็ง” หรืออาจเรียกว่าลิเกป่า มีการผูกเพลงเป็นครกหรือบท ยกย่องพะยูนว่ามีคุณค่า เปรียบเทียบความรักระหว่างชายหญิงเหมือนความรักของพะยูนแม่ลูก ตัวอย่างตอนหนึ่งของเพลงพื้นบ้านรองเง็ง “.....คิดถึงสาวกินข้าวไม่ลง ถูกเสน่ห์น้ำตาดูหยง กินข้าวไม่ลงคิดถึงเจ้าทุกเวลา.....” ชาวน้ำหรือชาวเล เล่าว่า หากเป็นน้ำตาพะยูนของแท้ใส่ไว้ในขวดจะมีการขึ้นลงเหมือนน้ำทะเล และน้ำตาพะยูนที่ได้ผลเป็นเลิศต้องมาจากลูกพะยูนที่ตามหาแม่ ปกติพะยูนแม่-ลูกจะมีความผูกพันกันมาก หากลูกพะยูนติดอวนหรือถูกจับไป แม่พะยูนจะเที่ยวตามหาลูกของมัน และชาวประมงก็มักจะจับแม่พะยูนได้อีกตัวในเวลาต่อมา กล่าวได้ว่าชุมชนชายฝั่งทะเลหรือชาวประมงพื้นบ้านมีความผูกพันรักใคร่พะยูน อย่างมาก จนนำมาร้อยเรียงเป็นเพลงร้อง เพื่อความบันเทิงใจในยามค่ำคืน หรือยามมีงานบุญในหมู่บ้าน

เรื่องเล่าขานเกี่ยวกับพะยูน : ตำนานการเกิดพะยูน       จากการสัมภาษณ์คนเฒ่าคนแก่ที่หมู่บ้านเจ้าไหม จ.ตรัง เล่าว่า เดิมทีพะยูนเป็นคน โดยเล่าว่า “มีสองสามีภรรยาที่อาศัยอยู่ชายฝั่งทะเล ต่อมาภรรยาได้ตั้งท้องและอยากกินของแปลกๆ ตามธรรมชาติของคนแพ้ท้อง ภรรยาต้องการกินลูกหญ้าทะเล สามีก็ไปเก็บมาให้กินทุกวัน จนกระทั่งภรรยาท้องแก่ใกล้คลอด ลูกหญ้าทะเลที่สามีหามาให้ไม่เพียงพอกับความต้องการของนาง นางจึงลงทะเลเพื่อไปเก็บลูกหญ้าทะเลกินเสียเองและมัวเพลิดเพลินกินอยู่จนลืม เวลาว่าน้ำกำลังขึ้น เมื่อถึงเวลาน้ำขึ้นเต็มที่นางจึงไม่สามารถกลับขึ้นมาได้ นางคงติดอยู่ในดงหญ้าทะเลนั้นเอง จนในที่สุดนางก็กลายร่างเป็นนางเงือกหรือพะยูน” บางคนเล่าเสริมว่า “สามีได้ตามลงไปในทะเลเพื่ออยู่กับภรรยาของตัวเอง แสดงให้เห็นถึงความรักของสามีภรรยาทั้งคู่”

ความเชื่อ


กระดูกพะยูนแกะเป็นรูปปลัดขลิกจำนวน 2 ชิ้น จาก จ.ภูเก็ต
        แม้ว่าราคาของเนื้อพะยูนดูจะสูงกว่าเนื้อหมู เป็ด และไก่ก็ตาม แต่เป็นเรื่องปกติของมนุษย์ที่ของที่ยิ่งหามาด้วยความลำบากยากเย็นหรือมี น้อยเหลือเกิน มักถูกเชื่อว่ามีประโยชน์มหาศาล เนื้อพะยูนก็เช่นกัน ชาวบ้านเชื่อว่าการกินเนื้อพะยูนทำให้มีพลังและเป็นเหมือนยาอายุวัฒนะ เนื้อพะยูนนำไปปรุงเป็นอาหารได้หลายอย่าง เช่น แกง ผัด ทอด เนื้อแดดเดียว และเนื้อเค็ม น้ำมันพะยูนใช้ทาแก้ปวดเมื่อยและแก้น้ำร้อนลวก น้ำตาเป็นยาเสน่ห์ ส่วนกระดูกฝนผสมกับน้ำมะนาวกินแก้พิษจากการถูกเงี่ยงหรือหนามของปลาแทง กระดูกใช้ทำเป็นเครื่องราง เขี้ยวทำหัวแหวน และหนังใช้ทำไม้เท้าในต่างประเทศ ก็มีความเชื่อเรื่องการใช้ประโยชน์จากชิ้นส่วนต่างๆของพะยูนเช่นกัน ชนพื้นเมืองในประเทศออสเตรเลียเชื่อว่าน้ำมันพะยูนใช้รักษาโรคต่างๆ ได้หลายโรค ในมาดากัสการ์เชื่อว่าน้ำมันพะยูนใช้รักษาโรคไมเกรนได้ หนังพะยูนใช้ทำเครื่องหนัง หรือนำไปต้มเคี่ยวจนได้กาว ส่วนเขี้ยวหรืองาพะยูนใช้ทำด้ามกริช เป็นของที่ระลึกหรือของฝาก





รูปพะยูนที่อยู่หัวเรือท่องเที่ยว
 

หัวแหวนที่ทำจากเขี้ยวพะยูน


จี้ห้อยคอทำจากฟันพะยูน
 

อวัยวะเพศผู้ของลูกพะยูนที่ตากแห้งเก็บไว้



ที่มา : http://www.dmcr.go.th/marinecenter/dugong.php

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น