วันจันทร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

การอ่านหนังสือมีส่วนช่วยสร้างความสำเร็จในการดำเนินชีวิตของบุคคล

การอ่านหนังสือมีส่วนช่วยสร้างความสำเร็จในการดำเนินชีวิตของบุคคล
จะเห็นได้ว่าผู้ที่สามารถอ่านได้ดีมักเจริญรุ่งเรืองกว่า ผู้ที่ไม่มีนิสัยรักการอ่าน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ศึกษาหาความรู้จะต้องอ่านหนังสือให้มากกว่าบุคคลประเภทอื่น
เพราะจะต้องติดตามความเคลื่อนไหวทางวิชาการอยู่เสมอ
จึงต้องอาศัยการสื่อสารรับรู้เรื่องราวความรู้จากการอ่านสิ่งพิมพ์ต่างๆเป็นประจำ  
rose
            การอ่าน คือ การรับสารจากตัวอักษร โดยผู้อ่านได้รับรู้เนื้อหาของสาร และเข้าใจเจตนาของผู้ส่งสาร การอ่านโดยทั่วไปมีนิยามดังที่กล่าวมาแล้ว ส่วนการอ่านสำหรับผู้มีการศึกษาระดับปริญญา ยังรวมถึงการใช้ความสามารถในการตีความ และใช้วิจารณญาณเลือกเฟ้นคุณค่าจากสิ่งที่อ่านมาใช้เป็นประโยชน์ทั้งทางด้าน ความรู้ ความคิด และอารมณ
            การอ่านเป็นกิจกรรมที่มีความมุ่งหมายแฝงอยู่ด้วยเสมอ ผู้ที่คอยมองหาและอ่านป้ายประกาศบอกสถานที่และระยะทางข้างถนน หรือผู้ที่อ่านสลากยาล้วนมีความมุ่งหมายในการอ่านทั้งสิ้นโดยเฉพาะผู้ที่ เลือกหยิบหนังสือเล่มหนึ่งเล่มใดมาอ่านหรือหยิบหนังสือมาเพื่ออ่านตอนใดตอน หนึ่ง
ย่อมแสดงว่ามีความมุ่งหมายในการอ่านอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม โดยปกติแล้ว การอ่านมีจุดมุ่งหมายอยู่ ๕ ประการ คือ

๑. อ่านเพื่อทราบข่าวสาร
คนเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ดังนั้นคนส่วนใหญ่จึงย่อมใส่ใจเรื่องราวในสังคม ข่าวสารการพัฒนา ข่าวบุคคลสำคัญ ข่าวขององค์กรต่างๆ ข่าวเกี่ยวกับภัยธรรมชาติ ฯลฯ ล้วนเป็นสิ่งที่มีผู้สนใจอ่าน สื่อในการอ่านเพื่อทราบข่าวสารมีหลายชนิด ได้แก่ หนังสือพิมพ์ คอลัมน์ข่าวสังคมในนิตยสาร และรายงานของหน่วยงานต่าง ๆ

๒. อ่านเพื่อความบันเทิง
อารมณ์และจินตนาการเป็นคุณสมบัติหนึ่งของความเป็นมนุษย์การอ่านเป็นสิ่งที่สนองตอบได้ทั้งอารมณ์และจินตนาการ โดยเฉพาะในด้านการสร้างสรรค์จินตนาการนั้น ยังไม่มีสื่อชนิดใดที่มีคุณสมบัติเท่าเทียมการอ่าน สื่อในการอ่านเพื่อความบันเทิงมีหลายชนิด ได้แก่ เรื่องสั้น นวนิยาย กวีนิพนธ์ และข้อเขียนขำขันสั้น ๆ

๓. อ่านเพื่อพัฒนาความคิด
มนุษย์ย่อมปรารถนาหลักการในการดำเนินชีวิต และแสวงหาหลักคิดจากผู้รู้ไว้เป็นคติเพื่อสร้างความหวังในยามสุขและเพื่อปลุกใจในยามท้อถอย สื่อในการอ่านเพื่อพัฒนาความคิดมีหลายชนิด ได้แก่ หนังสือด้านธรรมะ ปรัชญา รวมไปถึงบทความที่ให้แง่คิดต่างๆ แก่สังคม

๔. อ่านเพื่อค้นคว้าหาความรู้
มนุษย์ประกอบอาชีพได้ด้วยความรู้ความสามารถ การอ่านเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยเพิ่มเติมความรู้ให้แก่มนุษย์ได้เป็นประจำวัน ทั้งความรู้ในวิชาชีพและความรู้ในงานอดิเรก สื่อในการอ่านเพื่อค้นคว้าหาความรู้มีหลายชนิด ได้แก่ พจนานุกรม สารานุกรม ตำรา สารคดี ตลอดถึงวารสารและนิตยสารที่เน้นความรู้เฉพาะด้าน

๕. อ่านเพื่อศึกษาสำนวนภาษา
ภาษาเป็นเครื่องมือสื่อสารมี่ทรงพลังที่สุดของมนุษย์ และถ้อยคำเป็นสิ่งที่ทรงพลังที่สุดของภาษา สื่อสำหรับการอ่านเป็นสื่อที่บันทึกถ้อยคำไว้เป็นหลักฐานมากที่สุด สำนวนที่ใช้ในสังคมจำนวนมากได้รับผ่านสื่อที่เป็นตัวอักษร ผู้สนใจอ่านเพื่อศึกษาสำนวนภาษาสามารถอ่านได้จากสื่อการอ่านทุกชนิดตามความสนใจของตน ไม่ว่าจะเป็นการอ่านเพื่อศึกษาสำนวนภาษาจากบันเทิงคดี สารคดี กวีนิพนธ์ หนังสือพิมพ์ หรือตำราวิชาการ ตลอดถึงศึกษาสำนวนภาษาของผู้เขียนเฉพาะบุคคล





ที่มา : http://www.kkw.rmutr.ac.th/thai1/webpages/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น